The Art of Psychological Warfare
The Art of Psychological Warfare เป็นหนึ่งในหนังสือที่อยู่ในชุดซึ่งเขียนและตีพิมพ์โดย Christopher Kingler หลายคนสามารถจดจำหนังสือในชุดนี้ได้จากหน้าปกของหนังสือที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ หัวข้ออื่นของหนังสือที่ตีพิมพ์ก็ใช้การออกแบบหน้าปกในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าคำโปรยที่หน้าปกจะน่าสนใจ รวมไปถึงการใช้คำว่า Warfare ซึ่งมีความหมายที่อาจลงลึกไปถึงหัวข้อของการใช้ประเด็นด้านจิตวิทยาในการทำสงครามและชิงความได้เปรียบในสนามรบ เนื้อหาของหนังสือเองกลับไม่ได้ลงไปที่หัวข้อนั้นเท่าไหร่ เนื้อหาของหนังสือเลือกที่จะแตะพื้นผิวของการใช้ประเด็นด้านจิตวิทยาในชีวิตประจำวันซึ่งรวมไปถึงในความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ มากกว่า ด้วยการแบ่งบทและการเขียนที่ทำให้ค่อนข้างอ่านง่าย หนังสือเล่มนี้จึงสามารถที่จะถูกอ่านได้อย่างรวดเร็ว แลกกับประเด็นที่ตื้นซึ่งส่งผลให้กลิ่นของหนังสือนั้นคล้ายกับหนังสือ Self-help ด้วย
ครึ่งหนึ่งของหนังสือเป็นการว่าด้วยเรื่องทฤษฎีของการใช้จุดอ่อนด้านจิตวิทยาเพื่อการหาประโยชน์และป้องกันตัวเอง ตัวหนังสือพูดครอบคลุมถึงหัวข้อ อาทิ
- การสร้าง facade ซึ่งเป็นชั้นของบุคลิกเพื่ออำพรางหรือปฏิเสธการมีอยู่ของจุดอ่อนของตัวเราเอง
- ยกประเด็นที่ถูกกล่าวถึงใน The Art of War ของ Sun Tzu และในหนังสือรวมไปถึงานวิจัยของ Machiavelli มาเป็นหลักการเบื้่องต้นด้านจิตวิทยาบางอย่าง อาทิ เรื่องของ deception โดยใช้หลักการอย่าง when able to attack, seems unable
- พูดถึงหลักการของ dark triad พร้อมทั้งลงลึกไปในแต่ละประเด็นว่าเมื่อ trait แต่ละอย่างถูกนำมาใช้งานแล้ว มันจะมีลักษณะและจุดสังเกตอย่างไร
- คำอธิบาย นิยาม ตัวอย่างและเทคนิคทั้งในเชิงการใช้และการป้องกันในประเด็นของ deception, persuasion, intimidation, influence, manipulation, brainwashing
- ตัวอย่างของการใช้ประเด็นด้านจิตวิทยาในที่ทำงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือในกระทั่งความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดมากขึ้นในลักษณะต่างๆ
เนื้อหาบางส่วนพูดถึงการนำไปใช้และตัวอย่างซึ่งขาดจุดเชื่อมโยงว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับประเด็นในหนังสือ ส่งผลให้เนื้อหาบางส่วนในกลุ่มของการยกตัวอย่างนั้นสามารถถูกข้ามไปได้ หนังสือเล่มนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเข้าใจหลักการอย่างลึกซึ้ง แต่ต้องการเข้าใจและได้ภาพตัวอย่างที่เห็นชัดในประเด็นนี้มากกว่า