Ghostwriter Campaign Note
ในบทที่สองของหนังสือ Psychology of Intelligence Analysis ซึ่งสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency — CIA) มักอ้างถึงว่าเป็นคู่มือที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองใหม่ควรอ่านและทำความเข้าใจนั้นมีการพูดถึงประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือธรรมชาติของความเข้าใจหรือมุมมอง (Perception) ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งคุณและโทษ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ Richard J. Heuer, Jr. ยังได้ขมวดปมธรรมชาติที่น่าสนใจและส่งผลกระทบต่อการคิดวิเคราะห์ของคนเอาไว้ 4 ประเด็น ได้แก่
- เรามักจะรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองที่เราอยากจะรับรู้
- Mindset ต่อสิ่งที่เรารับรู้มักจะถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่กลับยากที่จะเปลี่ยน ในบางครั้งมันก็อาจต่อต้านการเปลี่ยนแปลงด้วย
- ข้อมูลใหม่มักจะถูกรับรู้และทำความเข้าใจโดยอ้างอิงภาพประสบการณ์เดิม
- การรับรู้สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือเป็นอันดับแรกจะก่อกวนการรับรู้ที่ถูกต้องแม้ว่าจะมีข้อมูลที่มากขึ้นและดีขึ้นมากก็ตาม
การทำความเข้าใจธรรมชาติของการรับรู้นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการทำความเข้าใจเพื่อให้การวิเคราะห์และจัดการข่าวกรองนั้นมีความถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด ในขณะเดียวกันแม้ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นจุดที่ควรต้องถูกพัฒนา แต่หากข้อเท็จจริงเหล่านี้ปรากฎโดยทั่วไปในคนหมู่มาก การนำข้อเท็จจริงเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวภายใต้มุมมองว่าคนทุกคนมีช่องโหว่ที่จะถูกโจมตี (Vulnerable) ก็ถือว่าเป็นการประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน และถือเป็นเรื่องปกติในการทหารและการทำสงครามภายใต้โดเมนที่เรียกว่า Information warfare ด้วย
แคมเปญ Ghostwriter เป็นปฏิบัติการด้านข้อมูลซึ่งถูกค้นพบและเปิดเผยโดย Mandiant Threat Intelligence ซึ่งมีประเด็นโดยสรุปจากรายงานของทาง Mandiant ดังนี้
- Mandiant Threat Intelligence ใช้วิธีการเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของกิจกรรมซึ่งมีลักษณะคล้ายกันและจุดประสงค์สอดคล้องกันไว้ภายใต้ชื่อแคมเปญว่า Ghostwriter
- แคมเปญ Ghostwriter นี้เริ่มมีการตรวจพบหลักฐานการมีอยู่ของปฏิบัติการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017
- เป้าหมายของปฏิบัติการหรือแคมเปญ Ghostwriter นั้นสอดคล้องไปกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัสเซีย ทั้งนี้ Mandiant Threat Intelligence ยังไม่ได้ให้ข้อสรุปว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการในครั้งนี้
- ลักษณะของปฏิบัติการ Ghostwriter เกิดขึ้นในรูปแบบของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอมหรือ Disinformation ตามช่องทางต่างๆ รวมไปถึงการขโมยและปลอมแปลงตัวตนของนักข่าวที่มีอยู่จริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสาร
- เป้าหมายของปฏิบัติการ Ghostwriter โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศลิทัวเนีย, ลัตเวียและโปแลนด์ และประเทศที่มีการต่อต้านสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization — NATO)
- ช่องทางการแพร่กระจาย Disinformation ที่ปฏิบัติการ Ghostwriter เลือกใช้นั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นบทความข่าวซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มเนื้อหาของตนเอง และเผยแพร่บนเว็บไซต์สื่อจริงๆ ที่ Ghostwriter ทำการโจมตีเข้าถึงและยึดครอง ช่องทางต่อมาที่มักถูกใช้ในการแพร่กระจายข่าวสารคือทางอีเมลและทางแพลตฟอร์ม Blog อาทิ Wix, Blogspot และ WordPress ในขณะเดียวกันมีการพบข้อมูลบางส่วนบน Social media ด้วย
- ทางด้าน Cyber operation ปฏิบัติการ Ghostwriter ยังมีการโจมตีระบบของเว็บไซต์สื่อเพื่อเพิ่ม แก้ไขและเปลี่ยนแปลงข้อมูลตามข้อมูลปลอมที่มีอยู่ ผู้ดำเนินการภายใต้ปฏิบัติการดังกล่าวยังมีการปลอมแปลงอีเมลเพื่อแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสารปลอม
- ผลกระทบจากปฏิบัติการ Ghostwriter ส่งผลให้ข้อมูลปลอมที่ถูกเผยแพร่นั้นยังคงถูกอ้างอิงและนำไปบอกต่อในวงกว้าง ยากต่อการจัดการและควบคุม
ในบริบทของประเทศไทยนั้น เราอาจสังเกตได้ว่ามีหลายเหตุการณ์ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของ Influence หรือ Information campaign เช่น ปฏิบัติการ Information operation ที่กองทัพได้จัดทำขึ้นต่อทั้งกรณีความไม่สงบในภาคใต้และการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และในขณะเดียวกันก็มีหลายกรณีที่เราเห็นการแพร่กระจาย Disinformation จากภาคประชาชนกันเองไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามภายใต้จุดประสงค์ของการพยายามที่จะชักชวนให้ผู้อื่นเชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อ และใช้มันเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม
แม้ประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงแลกกับการลงทุนที่ต่ำและความไม่จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติการจะต้องมีความรู้และทักษะที่สูง ปฏิบัติการแบบ Disinformation จึงเป็นรูปแบบที่เย้ายวนและมักถูกเลือกใช้จริงอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามไม่ว่าด้วยผลประโยชน์อันใด ปฏิบัติการและการดำเนินการเพื่อแพร่กระจาย Disinformation จะมีการสร้างตะกอนของความเข้าใจและการรับรู้เอาไว้แก่ผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อเสมอ หากตะกอนนั้นเป็นตะกอนซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงก็ย่อมเป็นประโยชน์ แต่หากตะกอนนั้นสะท้อนให้เห็นแต่เพียงสิ่งที่ผู้ปฏิบัติการหรือควบคุมปฏิบัติการอยากทำให้เห็น ทับถมบนความไม่จริงไปเรื่อย ตะกอนเหล่านั้นจะก่อตัวและอาจทำให้สิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงไม่มีอยู่อีก